วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557



การฟ้อนรำ..จังหวัดกาฬสินธุ์

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
ฟ้อนไทภูเขา

ฟ้อนไทภูเขา
ฟ้อนไทภูเขา เป็นการแสดงที่สื่อถึงภาพวิถีชีวิตในการทำมาหากินของชาวภูไทที่อาศัยตามแนวเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวทิวเขาที่ทอดยาวพาดผ่านหลายจังหวัดในอีสานตอนบน แสดงถึงการหาของป่าหรือการหาพืชพันธุ์เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร

การแสดงชุดนี้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดยวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ โดยการเข้าไปลงพื้นที่เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลการทำมาหากิน ที่หมู่บ้านของชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการเป็นหมู่บ้านต้นแบบการทอผ้าสไบไหมแพรวาของชาวภูไท ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งอื่นๆก็นิยมทอกันอย่างแพร่หลาย

การแสดงชุด “ฟ้อนไทภูเขา” แสดงถึง การเดินขึ้นภูเขา การขุดหาหน่อไม้ เก็บเห็ด เก็บผักหวาน เก็บใบย่านาง และการตัดหวาย จึงเป็นการแสดงที่มีความโดดเด่น ในการสื่อถึงการทำมาหากินและความสวยงามของผ้าไหมแพรวา ของชาวภูไทที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายของนักแสดง

ดนตรีที่ใช้ เริ่มต้นจากลายภูไท ที่มีทำนองช้าแล้วขึ้นลายใหม่ที่มีจังหวะและทำนองที่สนุกสนาน

ฟ้อนไทภูเขา

การแต่งกาย
-  หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกสีแดง ใช้ผ้าสไบไหมแพรวาสีแดงพับครึ่งเป็นตัว V ที่ด้านหน้าให้ปลายผ้าทั้งสองข้างพาดไหล่ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สีดำมีตีนซิ่นยาวคลุมเข่า พันศีรษะด้วยผ้าแพรวาสีแดงปล่อยให้ชายครุยของปลายผ้าปรกใบหน้า สวมเครื่องประดับเงิน และสะพายหลังด้วยเครื่องจักสานลักษณะตะกร้าสะพายหลัง ชาวภูไทเรียกเครื่องจักสานชนิดนี้ว่า “กระม้อง”
-  ชาย สวมเสื้อสีครามมีการตกแต่งเสื้อด้วยแถบผ้าลายแพรวา นุ่งกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าแพรวาแดงพันศีรษะและมัดเอว สะพายย่ามลายขิดสีแดง
การฟ้อนรำ..จังหวัดมหาสารคาม

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
ฟ้อนมหาชัย

ฟ้อนมหาชัย

ฟ้อนมหาชัย เป็นการแสดงฟ้อนรำอีกชุดหนึ่ง มาจากทำนองขับลำมหาชัย ซึ่งมีต้นเค้ามาจากเมืองมหาชัย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย อ.วีณา วีสเพ็ญ และ อ. เจริญชัย ชนไพโรจน์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม(มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ได้ทำการบันทึกเทปการแสดงชุดนี้ไว้เมื่อคราวไปเยี่ยมศูนย์ลาวอพยพ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2525

และคำว่า “มหาชัย” ยังสอดคล้องกับกับนามของผู้สร้างเมืองมหาสารคาม ซึ่งได้แยกตัวมาจากเมืองร้อยเอ็ด คือ “ท้าวมหาชัย (กวด)”

จากนั้น อ. ชัชวาลย์วงษ์ประเสริฐ จึงได้ทำนองลำมหาชัยมาให้นิสิตชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) มาฝึกซ้อม โดยดัดแปลงมาบรรเลงในวงโปงลางและประยุกต์ท่าฟ้อนจากคณะนาฏศิลป์ลาว ซึ่งได้นำมาเผยแพร่ในปี พ.ศ.2529 ให้มีรูปแบบเฉพาะตนขึ้น การแสดงดนตรี บรรเลงทำนองขับลำมหาชัย

การแต่งกาย
หญิง สวมเสื้อแขนกระบอกมีชายระบาย เฉียงสไบจกลาวที่ไหล่ด้านซ้าย แล้วคาดทับด้วยเข็มขัดทองทับ นุ่งผ้าซิ่นลายจกของประเทศลาว ผมเกล้ามวยสูงมัดมวยผมด้วยสายลูกปัดทอง สวมเล็บทองเหลือง และสวมเครื่องประดับทอง


ลำมหาชัย

โอ๊ย...น้อ....มหาชัย......โอย เฮียมเอย

โอนอ...แสนมาดีแม่นใจแท้ เต็มทรวงหนอซมซื่น เห็นซุมซาวพี่น้อง สบายบ้างผู้สุคน อีหลีได้ตามนเอย..........

โอย...คำเอย พอนางมาหนอเห็นอ้าย ซายงามหนอวาดค่อง มองบ่อนใด๋ก็หากได้ ไผก็ย้องว่าแม่นไผ อีหลีได้คนงามนี่นา

โอย...คำเอย ไปบ่หนอแม่นนำน้อง โอยนำน้อง เมืองลาวงามเยี่ยมยอด ดินดอนสองปากแม่น้ำ โขงกว้างแม่ นที คิงกลมผู้งามเอย มหาชัยของเฮียมนี่นา

คำเอย คันอ้ายไปหนอนำน้อง โอยนำน้อง ค่าเฮือแพบ่ให้จ้าง ค่าเฮือบินบ่ให้จ่าย เฮียมสิพาแม่นหม่อมอ้าย ไปขี่ซ้างฮ่วมพระนาง อีหลีได้คนงามเอย

โอย...คำเอย ไปเบิ่งสาวลาวพู้น โอยลาวพู้น ผลิตผลดั่งใจแท้ การทำนาและก่อสร้าง แปงบ้านอยู่จั่งใด๋

คำเอย มันสิเฮืองหนอฮำฮอน เหมือนดั่งคนหนอเค้าเก่า บอกว่าองค์พระเจ้า วัดวานั้นแม่นบ่มี อีหลีบ่ผู้ดีเอ๋ย.....เอย

โอย...คำเอย เฮาซวนกันก็นานแล้ว ก็นานแล้ว บ่เห็นซายอ้ายถามข่าว หรือตินางว่าขี้ฮ้าย รูปฮ้างฮ้าย ตนอ้ายจึงอยู่เมิน สมัยลาวเจริญเอ๋อ....เอย

โอย...น้อ......คำเอย เฮียมขอแถมพรแก้ว โอยพรแก้ว พรชัยอันยิ่งใหญ่ ขอให้พงศ์พี่น้อง จงยืนมั่นผู้สุคน ขอลาลงละหนา.............
การฟ้อนรำ..จังหวัดร้อยเอ็ด

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
ฟ้อนมโนห์ราเล่นน้ำ

ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ
เป็นการฟ้อนที่ได้ตัดตอนเนื้อหามาจากวรรณกรรมพื้นเมืองอีสาน-ล้านช้าง เรื่อง “ท้าวสีทน-มโนราห์” หรือในท้องที่ภาคกลางของไทยรู้จักในเรื่อง “พระสุธน – มโนราห์” อันเป็นเรื่องที่มีเค้ามาจากชาดกทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นวรรณกรรมที่แพร่หลายอย่างมาก ทั้งในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ ได้เลือกเอาตอนหนึ่งมาแสดงคือ ตอนที่นางมโนราห์และพี่ทั้งหกตน ลงจากเขาไกรลาสมาเล่นน้ำในสระอโนดาต เมื่อพรานบุญผ่านมาพบเข้าเห็นเหล่านางกินรีเล่นน้ำอยู่ จึงใช้บ่วงนาคบาทจับตัวนางมโนราห์ไป พี่ๆของนางมโนราห์ไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ จึงต้องบินกลับเขาไกรลาสไป

ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ ได้ประดิษฐ์คิดค้นการแสดงโดย คณาจารย์จาก วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด โดยมี อ.ทองคำ ไทยกล้า เป็นผู้จัดทำนองลายดนตรี อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ เป็นผู้ปรับปรุงตกแต่งความกลมกลืนของท่าฟ้อนและทำนองลายเพลง อ.ฉวีวรรณ ดำเนิน(พันธุ) เป็นผู้ประดิษฐ์ท่าฟ้อนและออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมกับ อ.จีรพล เพชรสม

ท่าฟ้อนที่ใช้ในการแสดงชุด ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ ได้แก่ ท่ายูงรำแพน ท่าสาวประแป้ง ท่าอุ่นมโนราห์ ท่าอาบน้ำ ท่าบัวหุบบัวบาน ท่าไซร้ปีกไซร้หาง ท่าตีกลองน้ำ ท่าบินโฉบ เป็นต้น

ดนตรี บรรเลงด้วยวงโปงลาง ลายลำเพลินแก้วหน้าม้า

ฟ้อนมโนราห์เล่นน้ำ

การแต่งกาย

- นางมโนราห์  สวมเสื้อแขนสั้นสีขาวคล้ายเสื้อระบำลพบุรี นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่าและรัดเอวด้วยผ้าสีเงิน สวมสร้อยคอเพชร มีปีกและหาง ผมเกล้ามวยประดับมงกุฎเพชร ที่นิ้วสวมเล็บทองเหลือง
- ตัวพี่ๆของนางมโนราห์  สวมเสื้อแขนสั้นสีเหลืองคล้ายเสื้อระบำลพบุรี นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่าและรัดเอวด้วยผ้าสีทอง สวมสร้อยคอเพชร มีปีกและหาง ผมเกล้ามวยประดับมงกุฎเพชร ที่นิ้วสวมเล็บทองเหลือง


การฟ้อนรำ..จังหวัดนครพนม

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
ฟ้อนหางนกยูง

ฟ้อนหางนกยูง
          นาฏศิลป์ของจังหวัดนครพนมได้มีการแสดงการฟ้อนรำที่เรียกได้ว่าเป็น   นาฏศิลป์พื้นเมืองเอกลักษณ์นครพนมอยู่หลายอย่าง   ซึ่งเป็นการแสดงดั้งเดิมสืบทอดกันมาและที่คิดขึ้นใหม่ผสมผสานกลมกลืนกันไป   รวมทั้งการได้สืบค้นการแสดงที่หายไปแล้วได้คิดท่าฟ้อนรำขึ้นใหม่ตามแนวทางที่ได้สืบคนก็มี ซึ่งการแสดงชุดหนึ่งที่เป็นการแสดงนาฏศิลป์ของนครพนมที่มีความสวยงาม คือ การฟ้อนหางนกยูง

ประวัติการแสดง

ในปี พ.ศ. 2530 สมัยที่   นายอุทัย   นาคปรีชา   ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (พ.ศ. 2527-2531) ได้ฟื้นฟูการฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาและไหลเรือไฟ
ฟ้อนหางนกยูงเป็นการแสดงชุดหนึ่งที่ทางจังหวัดกำหนดให้เป็นการฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม ซึ่งนำโดยอำเภอเมือง   จังหวัดนครพนม และได้ปฏิบัติติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
                      
   การฟ้อนหางนกยูงนี้ ในอุรังคนิทานมีกล่าวไว้ในบทพระธาตุทำปาฏิหาริย์ หลังจากพระอินทร์ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานในอุโมงค์ ภายในพระเจดีย์เป็นที่อนุโมทนาสาธุแก่เหล่าเทวดา   ครั้งนั้นพระอุรังคธาตุเสด็จออกมาทำปาฏิหาริย์ เทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก   ในเวลานี้เองที่เป็นที่มาของตำนานของการ ฟ้อนหางนกยูงและฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมประจำปี ความว่า

                         ...เทวดาทั้งหลายมีความชื่นชมยินดียิ่งนัก จึงส่งเสียงสาธุขึ้นอึงมี่ตลอดทั่วบริเวณ
วิทยาธรคนธรรพ์ทั้งหลายประโคมด้วยดุริยะดนตรี   
วัสสวลาหกเทวบุตรพาเอาบริวารนำเอาหางนกยูง เข้าไปฟ้อนถวายบูชาเทวดาทั้งหลาย
ลางหมู่ขับ ลางหมู่ดีด สี ตี เป่า นางเทวดา   ทั้งหลายถือหางนกยูง ฟ้อนและขับร้องถวายบูชา...

                         ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าฟ้อนหางนกยูง เป็นศิลปะการฟ้อนรำของจังหวัดนครพนม เป็นลีลาฟ้อนรำอีกแบบหนึ่งที่เป็นการเลียนแบบจากท่านกยูงรำแพนเป็นส่วนมาก  การฟ้อนหางนำยูงนี้มีผู้นำมาถ่ายทอดและฟ้อนรำเองตามคำบอกเล่าว่า

                   "เมื่อประมาณ 100 ปีเศษ  โดยมีคุณตาพัน เหมหงษ์ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนครพนมโดยกำเนิด ท่านเป็นบุตรของอุปฮาดคนหนึ่งในสมัยโบราณ    เมื่อครั้งที่คุณตาท่านมีชีวิตอยู่ ท่านมีชีวิตโลดโผนเป็นนักสู้รบมาก่อน ท่านสนใจการฟันดาบ เพลงดาบ กระบี่กระบอง และมวย ท่านจึงกลายเป็นครูดาบ กระบี่กระบอง และมวย เป็นผู้มีฝีมือเยี่ยมยุทธ์คนหนึ่ง
                         และเวลาว่าง ๆท่านก็ชอบออกล่าสัตว์ หมูป่า และนกต่าง ๆ จากนั้นก็สะสมของป่าเอาไว้ เช่น หางนกยูง   แล้วนำมามัดเป็นกำ ๆ แล้วคิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนรำขึ้น ซึ่งมีลีลาคล้ายกับการฟ้อนดาบแล้วก็นำไปถ่ายทอดให้ลูกหลานต่อไป"
                        
                         การฟ้อนหางนกยูงนี้ในสมัยก่อนนิยมฟ้อนเดี่ยวบนหัวเรือแข่ง   เมื่อมีงานประจำปีงานออกพรรษาความเชื่อว่าก่อนทีจะนำเรือเข้าแข่งจะนำเรือขึ้นไปถวายสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าจะนำเรือเข้าแข่งขัน   และจะต้องฟ้อนหางนกยูงเพื่อถวายต่อหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองด้วย   การฟ้อนหางนกยูงนี้จะฟ้อนเฉพาะเรือแข่งที่สำคัญและมีขื่อเสียงโด่งดังเท่านั้น
                         ศิลปะการฟ้อนหางนกยูงนี้   มีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม   ถ้าขาดความอ่อนช้อยแล้วก็ขาดความสวยงามไป   การฟ้อนหางนกยูงหาคนฟ้อนสวยได้ยาก ด้วยเหตุนี้การฟ้อนหางนกยูงจึงหยุดชะงัก

                         ต่อมาเมื่อ  พ.ศ. 2491 นางเกษมสุข สุวรรณธรรมา   ซึ่งรับราชการอยู่ที่โรงเรียนอุเทนวิทยาคาร   อำเภอท่าอุเทน   จังหวัดนครพนม ได้ย้ายไปรับราชการที่โรงเรียนบ้านหนองจันทน์   ตำบลท่าค้อ   อำเภอเมืองนครพนม   ซึ่งมีนายทวี   สุริรมย์ เป็นหลานของคุณตาพัน   เหมหงษ์   ซึ่งได้รับการถ่ายทอดการฟ้อนหางนกยูงนี้ไว้   นางเกษมสุข สุวรรณธรรมา   จึงได้โอกาสและขอถ่ายทอดฟ้อนหางนกยูงนี้ไว้ตั้งแต่นั้นมา

                         ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2493   จึงได้นำไปฝึกสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2495 ซึ่งนางเกษมสุข สุวรรณธรรมา    คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายท่า
                         ดนตรีที่ใช้ประกอบท่าฟ้อน ในสมัยก่อนนั้น เป็นการฟ้อนเข้าจังหวะกลองยาว  ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง เท่านั้น
   ต่อมาเมื่อได้คิดประดิษฐ์ท่ารำเพิ่มเติมขึ้นแล้ว   ก็ได้ใช้ระนาด กลอง ฉิ่ง ฉาบ เป็นจังหวะประกอบการฟ้อน
                         ท่าฟ้อน  ฟ้อนหางนกยูงมีท่าฟ้อนต่าง ๆ ดังนี้
                         ท่าที่   1 ท่านกยูงร่อนออก
                         ท่าที่ 2   ท่ายูงรำแพน
                         ท่าที่ 3   ท่ารำแพนปักหลัก
                         ท่าที่ 4   ไหวัครู
                         ท่าที่ 5   ยูงพิสมัย
                         ท่าที่ 6   ยูงฟ้อนหาง
                         ท่าที่ 7   ปักหลักลอดซุ้ม
                         ท่าที่ 8   ยูงร่ายไม้
                         ท่าที่ 9   ยูงกระสันคู่
                         ท่าที่ 10 ยูงรำแพนซุ้ม
                         ท่าที่ 11   ยูงปัดรังควาน
                         ท่าที่ 12   ยูงเหิรฟ้า


                        คำอธิบายประกอบท่าฟ้อนรำ

                         ท่าที่   1   ท่าออก ทำหางนกยูงทั้งสองข้างตั้งวงซ้ายระดับไหล่   วิ่งซอยเท้าขึ้นข้างหน้าเวที แล้วซอยเท้าถอยลงมาแล้ววิ่งขึ้น หางนกยูงโบกไปมาตามจังหวะ   พับหางทั้งสองไปทางซ้ายแล้วก้างเท้าขวาไปข้าง ๆ แล้วหมุนลากไปรอบตัวทางขวาแล้วเปลี่ยนเป็นหมุนจากขวาไปซ้ายสลับกัน (ทำ   2   รอบ)

                       ท่าที่ 2 ยูงรำแพน ท่าเตรียมยืนเท้าชิด วางหางนกยูงขนานกันยื่นไปข้างหน้ารอบแรกก้าวเท้าซ้ายเท้าขวาไขว้ไปข้างหน้า โบกหางทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะแล้วตวัดหางไปทางด้านหลังแล้งตวัดเข้ามา   แขนซ้ายอยู่ระดับหน้าอก   รอบสองยกไหล่ทั้งสองพร้อมกับกระตุกข้อถอดแพนแยกหางนกยูงออกซ้ายขวา

                         ท่าที่ 3 รำแพนปักหลัก   ท่าเตรียมยืนอยู่ในลักษณะเดิมเหมือนท่าที่ 2 รอบแรกเหยียดแขนทั้งสองในท่าตั้งวงซ้าย   แขนซ้ายหวาย แขนขวาคว่ำอยู่รำดับไหล่   แขนเหยียดตึงแล้วลากหางนกยูงผ่านหน้าจากซ้ายขวายุบยืดตามจังหวะ   พับหางทั้งสองไปทางขวา (ลากหางต้องเอี้ยวตัวไป)   รอบสองบากหางทั้งสองผ่านหน้าจากขวามาซ้ายตามจังหวะทำเหมือนรอบแรก

                         ท่าที่ 4   ท่าไหว้ครู   ท่าเตรียมเหมือนท่าที่   3   ถือหางนกเหยียดแขนไปซ้ายเหมือนเดิม ลากหางผ่านหน้าตามจังหวะ เริ่มย่อเข่าทีละน้อยบากหางผ่านหน้าจากซ้ายไปขวาและจากขวาไปซ้าย 4   จังหวะ เข่าซ้ายถึงพื้นแล้ววางขนานไปข้างหน้ากระตุกข้อแตะพื้นพอดี
                         รอบสอง ในท่านั่งคุกเข่าซ้ายเหยียดขาขวาไปข้างหลัง โบกหางทั้งสองขึ้นตวัดอกเหวี่ยงข้างแล้วชักเข้ามากอด   กระตุกข้อยักไหลถอดหางทั้งสองออกเหมือนเดิม   (ทำท่านั่ง   3 รอบ)

                         ท่าที่   5 ยูงพิสมัย ท่าเตรียมอยู่ในท่าคุกเข่าเหมือนท่าที่   4   เหยียดแขนตั้งวงซ้ายพับหางไปข้างหลัง   ลากจากซ้ายไปขวาเอียงขาทิ้งหางไปขวาแล้วลากหางผ่านหน้า ตัวพร้อมกับยักไหบ่ทิ้งหางซ้าย   แล้วลากหางผ่านหน้าพร้อมกับโน้มตัวไปข้างหน้าตามจังหวะ
                         รอบสอง   ทำเหมือนเดิม

                         ท่าที่   6   ยุงฟ้อนหาง   ท่าเตรียม วางหางนกยูงขนานไปข้างหน้า กระตุกข้อแล้วยื่นขึ้นพร้อมกับหางนกยูงขึ้นข้างบนตวัดเหวี่ยงหางนกยูงลงทั้งสองข้าง ชักเข้ามากอดในระดับอก   กระตุกข้อยกไหล่ ให้หางนกยูงโบกหางขึ้นบน   ท่านี้ทำเหมือนท่าที่ 2 แต่จะต้องโบกหางนกยูงขึ้นแล้วหมุนตัวไปทาวซ้ายกระทุ้งเท้าซ้าย
                         รอบสอง   ก็โบกขึ้นทางขวามือ   กระทุ้งขวา ทำดังสลับกันไป

                         ท่าที่   7 ปักหลักลอดซุ้ม     ท่าเตรียม   ก้าวเท้าซ้ายขวาไว้เหมือนท่าที่   6 โบกหางนกยูงทั้งสองข้างขึ้นบนตวัดหางนกยูงทั้งสองเหวี่ยงลงข้างมากอดระดับอก แขนซ้ายทับแทนขวา ยกไหล่   ถอดหาง   วาดหางซ้าย   เหวี่ยงไปทางซ้าย   หมุนตัวไปทางซ้าย   ก้มศีรษะลอดแบนขา   ชักหางขวาลากผ่านศีรษะแล้วชักหางซ้ายตามลงข้างขวาทั้งข้างขวา
                         รอบสอง   ทำเหมือนเดิม

ฟ้อนหางนกยูง


                         ท่าที่ 8 ยูงร่ายไม้           ท่าเตรียม วางหางนกยูงขนานไปข้าวหน้า   เท้าขวายืน   เท้าซ้ายกระทุ้งหลัง
                         รอบแรก   โบกหางนกยูงขึ้นเหนือศีรษะ ตวัดหางลงข้าง ชักเข้ามากอดแขนซ้ายทับขวาแล้วเหวี่ยงหางนกยูงขึ้น   (กระทุ้งเท้าขวา   ซ้าย   ขวา เหวี่ยงหางจากข้างบนเหวี่ยงลงมาข้างแล้วกระทุ้งเท้าซ้าย)
                         รอบสองทำเหมือนเดิม

                         ท่าที่   9 ยูงกรันคู่        ท่าเตรียม   เหมือนท่าแรก
                         รอบแรก   โบกหางนกยูงขึ้นเหนือศีรษะเหวี่ยงหางซ้าย ลงมากอดที่เอวขวา   ชักแขนขวาเจ้ามากอด   แล้วลากหางนกยูงซ้ายขั้นปาดปลายหางนกยูงขวา   แล้วชักแขนซ้ายและขวาออกจากกันให้แขนซ้ายตั้งสูงกว่าแขนขวา
                         รอบสอง  ทำเหมือนเดิม

                         ท่าที่   10 ยูงรำแพนซุ้ม           ท่าเตรียม   วางหางนกยูงขนานไปข้างหน้า
                         รอบแรก   วาดหางนกยูงเอียงมาทับทางซ้าย   แขนซ้ายเหยียดตึงบิดตัวไปทางซ้ายแขนขวางอเหยียดตรงหน้า ชักหางหมุนรอบตัวจากซ้ายไปขวา   ถัดเท้าขวาไปตามจังหวะ   6 จังหวะ
                         รอบสอง   ทำเหมือนรอบแรก   แต่เหยียดหางบิดตัวทางขวาแล้วหมุนรอบตัวจากขวาไปซ้าย   ถัดเท้าขวา   6   จังหวะ

                         ท่าที่   11 ยูงรำแพนซุ้ม      ท่าเตรียม วางหางนกยูงแตะขนานไปข้างหน้าระดับเอว
                         รอยแรก   ยกหางนกยูงกระตุกตั้งขึ้นอยู่ในระดับเดิม   ส่ายหางโบกหางนกยูงไปทางซ้ายไขว้เข้ามาไขว้กันแล้วชักหางนกยูงส่ายเข้าออกพร้อมกัน ซอยเท้า   ยกไหล่   ตามจังหวะ (จะไปหน้าหรือหลังก็ได้ใช้เมื่อแปรแถว)

                         ท่าที่   12 ท่ายูงเหิรฟ้า         ท่าเตรียมพับหางนกยูงทั้งสองเหวี่ยงไปทางซ้ายระดับไหล่เท้าชิดกันแล้วซอยเท้าวิ่งจากซ้ายไปขวาหรือสลับจากขวาไปซ้าย

                         หมายเหตุ   ท่าฟ้อนหางนกยูงทุกท่า   จะต้องเล่นข้อมือ ยักไหล่   โยกตัวเอียงซ้ายขวา   บิดตัวซ้าย   ขวา ทำเข่ายุบยืด   เหมือนท่าฟ้อนอื่น ๆ จึงจะอ่อนช้อยและสวยงาม

                         การฟ้อนหางนกยูง   เครื่องดนตรีที่ใช้มี   แคน   พิณ   โปงลาง   โหวด   ฉาบ   กลอง   ฉิ่ง


ฟ้อนหางนกยูง

การแต่งกาย  

       แต่งกายแบบพื้นเมืองอีสาน   คือ เสื้อ ผ้าเหลืองอ่อนคอกลม หรือ คอจีน แขนกระบอก นุ่งผ้าซิ่นสีเขียวสดเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าพื้นสีเขียวต่อตีนซิ่น (เวลาสวมเก็บชายเสื้อเข้าในผ้าถุง แล้วใช้ผ้าคาดทับ)  
ผ้าสไบใช้ผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายลายใดก็ได้ห่มเฉียงบ่า ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้   สวมเครื่องประดับเงิน เช่น ต่างหู สร้อย  และกำไลแขน


.......................

อ้างอิงhttp://www.sawasdeenakhonphanom.com/knowledge.php?name=knowledge&file=readknowledge&id=99
เรียบเรียงใหม่โดย นายอดิศักดิ์ สาศิริ (อ้ายโอ๊ต)
การฟ้อนรำ..จังหวัดร้อยเอ็ด

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
เซิ้งบั้งไฟ

เซิ้งบั้งไฟ
เซิ้งบั้งไฟ เป็นประเพณีและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล จากคตินิยมและความเชื่อเรื่องตำนานพญาคันคาก (คางคก) ซึ่งเป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมจารึก อีกเรื่องหนึ่งคือ ตำนาน “ท้าวผาแดง – นางไอ่คำ” ซึ่งปราชญ์ชาวอีสาน ได้แต่งวรรณกรรมจากสังคมและความเป็นอยู่ของชุมชนชาวขอม


การเซิ้งบั้งไฟ ถือว่าเป็นประเพณีที่ชุมชน ชาวอีสานสืบทอดกันมาพร้อมกับประเพณีการจุดบั้งไฟ คือก่อนที่จะทำบั้งไฟเพื่อจุดถวายพญาแถนบนสวรรค์ ชาวบ้านจะรวมตัวกันออกเซิ้ง(คือ การร้องหรือจ่ายกาพย์ประกอบการฟ้อน) ไปรอบๆหมู่บ้านหรือชุมชนใกล้เคียง เพื่อบอกบุญขอรับไทยทาน เพื่อซื้อ ขี้เกีย (ดินประสิว) มาทำเป็น หมื่อ (ดินปืน) เพื่อบรรจุทำเป็นบั้งไฟ และจุดในพิธีขอฝนต่อไป


การเซิ้งบั้งไฟนั้นอาจจะเป็นผู้หญิงล้วน ชายล้วน หรือมีการสลับชายหญิงก็ได้ ท่าฟ้อนในการแห่บั้งไฟนั้นมีหลายท่า ยกตัวอย่างเช่น

ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านใต้สามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มีอยู่ด้วยกัน 6 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่านาคพ่นน้ำ ท่าม้วนเชือก ท่าแงงคีง(ท่าชมโฉมตนเอง) ท่าส่อนฮวก(ช้อนลูกอ๊อด) และท่ายูงรำแพน

ท่าฟ้อนของคุ้มบ้านท่าศรีธรรม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร มี 13 ท่า คือ ท่าไหว้ครู ท่าเกี่ยวข้าว ท่าทวยเทพ ท่าแหวกม่านเข้าหอ ท่าเอิ้นบ่าว-อีแหลวเสิ่น ท่าประแป้ง ท่าเสือขึ้นภู ท่าปอบผีฟ้า-กาตบปีก ท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าสามก้าว ท่างามเดือน และท่าแผลงศร


การแสดงเซิ้งบั้งไฟนั้นมีหลายแห่งที่คิดประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆกัน แต่ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเพียง 1 สถาบันดังนี้ 
ในปี พ.ศ.2525 นายจีรพล เพชรสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ดในขณะนั้น รวมทั้งเหล่าคณาจารย์ คือ อ.ฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน), อ.ทองคำ ไทยกล้า และ อ.ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ อาจารย์สอนศิลปะพื้นเมือง แห่งวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้ออกพื้นที่ไปศึกษาค้นคว้า เรื่องราวในงานประเพณีแห่บั้งไฟ จากบ้านสังข์สงยางและบ้านสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และการเซิ้งบั้งไฟของชาวอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มาสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏศิลป์ เป็นชุดการแสดงที่มีชื่อว่า “เซิ้งบั้งไฟ”  โดยการจำลองเหตุการณ์การแข่งขันบั้งไฟที่เมืองเอกธชีตา ในสมัยพระยาขอมเรืองอำนาจ โดยมีวัตถุประสงค์จะใช้กิจกรรมทางด้านนาฏศิลป์ สื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมรับรู้ถึงอดีตและความเป็นมา ของวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และตลอดจนการมีส่วนร่วมในการสืบสานและเผยแพร่สู่อนุชนรุ่นหลังต่อไป


ตัวอย่างกาพย์เซิ้งบั้งไฟ

    โอ เฮาโอศรัทธา เฮาโอ               ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ
ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ้วย                  หวานจ้วยๆต้วยปากหลานชาย
เอามายายหลานชายให้คู่                 ขั่นบ่คู่ตูข่อยบ่หนี
ตายเป็นผีกะสินำมาหลอก                 ออกจากบ้านกะสิหว่านดินนำ
หว่านดินนำกะให้แม่สาวย้าน..............................................


การแต่งกาย
การแต่งแบบชุดศรัทธา คือสวมเสื้อแขนกระบอกย้อมคราม มีการตกแต่งตัวเสื้อด้วยด้ายสีและกระดุมสีต่างๆ  นุ่งโสร่งหรือผ้าซิ่นมัดหมี่คั่นต่อตีนซิ่น ที่เอวจะแขวนกระดิ่งหรือกระพรวนคอวัว สวมหมวกกาบเซิ้ง พาดสไบขิดสีแดงเฉียงไหล่ สวมส่วยมือ หรือถือร่มพื้นเมือง 
การฟ้อนรำ..จังหวัดหนองคาย

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
ฟ้อนไทพวน

ฟ้อนไทพวน


ชาวพวน เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว

ทางภาคอีสานเรียกว่า ไทพวน แต่ภาคกลางเรียกชนเผ่านี้ว่า ลาวพวน ชาวพวนได้กระจายตัวอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำงึมของลาว สมัยกรุงธนบุรี เมื่อลาวได้รวมเป็นอาณาจักรพลเมืองฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงได้ถูกกวาดต้อน มาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ชาวพวนได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย และมาอยู่ในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย เลย พิจิตร แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย สิงห์บุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และสระบุรี


ชาวไทพวน ที่อพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บ้านบุฮม และบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จ.เลย ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเตาไห หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อครั้งที่พวกจีนฮ่อ กุลา เงี้ยว รุกรานเมืองเตาไห ๔ พ่อเฒ่า คือ พ่อเฒ่าก่อม พ่อเฒ่าห่าน พ่อเฒ่าเพียไซ พ่อเฒ่าปู่ตาหลวง เป็นผู้นำชาวพวนกลุ่มหนึ่ง อพยพออกจากหลวงพระบาง ล่องตามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮม ต่อมาผู้คนส่วนหนึ่งได้มาอยู่ที่บ้านกลาง อีกแห่งหนึ่งแล้วเรียกตัวเองว่า "ไทพวน"ชาวไทพวนนั้นมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบสังคม ชนบททั่วไป มีอาชีพเกษตรกรรม การทอผ้า การตีเหล็ก ทำเครื่องเงิน เครื่องทอง


ภาษา ชาวพวนใช้ ภาษาตระกูลไทลาว คล้ายกับไทอีสานทั่วไป แต่มีสำเนียงใกล้เคียงไทยภาคกลางกว่าเผ่าอื่นๆ

การแต่งกายของชาวไทพวน ในอดีตผู้หญิง ใช้ผ้าคาดอกแทนการสวมเสื้อ นุ่งซิ่นตีนจก หรือ สีพื้นแทรกลายขวาง บางท้องถิ่นนิยมนุ่งซิ่นมัดหมี่ ผู้ชายนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำใส่เสื้อสีดำ และผ้านุ่งจูงกระเบน ผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือคาดเอว ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ผ้าขาวม้ารัดนม เรียกว่า แห้งตู้ ทั้งชายหญิงไม่สวมเสื้อ แต่เวลาไปไร่นาต้องสวมเสื้อสีดำ หรือสีคราม หญิงสวมเสื้อรัดตัวแขนยาวถึงข้อมือกระดุมเสื้อใช้เงินกลมติดเรียงลงมาตั้งแต่คอถึงเอว เด็กผู้ชายก็จะใส่กำไลเท้า เด็กผู้หญิงใส่ทั้งกำไลมือกำไลเท้า

ปัจจุบันผู้หญิงนิยมสวมเสื้อตามสมัยนิยม ส่วนคนสูงอายุมักสวมเสื้อคอกระเช้า ผู้ชายยังแต่งเหมือนเดิม ยังมีบางท้องถิ่นแต่งแบบไทย-ลาว  เช่น จังหวัดลพบุรี ชัยนาท หนองคาย อุดรธานี

ฟ้อนไทพวน ประดิษฐ์และออกแบบโดยชมรมนาฏศิลป์หนองคาย จากนั้น วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬศิลป์ ได้นำไปเผยแพร่ต่อ


ไทพวน

การแต่งกาย เป็นแบบประยุกต์ด้วยชุดที่ได้รับอิทธิพลแบบไทลื้อ โดยมีเสื้อที่ดัดแปลงมาจากชุดไทลื้อ นุ่งซิ่นมุกต่อตีนจกแบบไทพวนแท้ๆ ใช้ผ้าขิดลายขาว-ดำ พันศีรษะ

เพลงไทพวน
                โอ้น้อ..มื้อนี้แม้ เลิศล้ำ มื้อประเสริฐ ดีงาม เฮาจึงมีเวลาพบกัน คราวนี้ โอกาสดีนางได้ เดินทางมาต้านกล่าว ถามข่าวคราวพี่น้องทางพี้ผู้สู่คน พี่น้องเอย

                โอ้น้อ..ยามเมื่อมาพบพ้อ แสนชื่นสมใจ พี่น้องเอย พอสร้างไขวาจาสิ่งใดมาเว้า เฮียมขอเอามือน้อมประนมกรละต้านต่อ ขอขอบใจพี่น้องทางพี้ผู้สู่คน พี่น้องเอย

                โอ้นอ..เฮานี่แม่นชาติเชื้อซาวเผ่าไทพวน พี่น้องเอย เนาอยู่เมืองเชียงขวางประเทศลาว ทางพุ้น กับทางพงศ์พันธุ์เซื้อ วงศ์วานคณาญาติ พากันเนาสืบสร้างทางพู้นคู่สู่คน พี่น้องเอย

                โอ้น้อ..เฮานี่แม่นชาติเชื้อสายเลือดเดียวกัน พี่น้องเอย มีหลายอันคือกันบ่ต่างกันพอน้อย คอยหล่ำแล สีหน้าอาภรณ์ ทุกสิ่งอย่าง ทุกท่าทาง ปากเว้าเสมอด้ามดั้งเดียว กันนั่นแหล่ว

                โอ้น้อ..ที่มีกาลฮับต้อน อย่างสมเกียรติจบงาม การอยู่กินไปมาสะดวกดี ทันด้าน สมว่าเป็นเมืองบ้าน เฮือนเคียงของน้องพี่ เฮียมได้เนาที่นี่เสมอบ้านแคมตน พี่น้องเอย

                โอ้น้อ..มาถึงตอนท้ายนี้ เฮียมขอกล่าวอวยพร ขอวิงวอนคุณพุทธ พระธรรมองค์เจ้า ขอให้มานำเข้า บันดาลและหยู้ส่ง ขอให้พงศ์พี่น้อง อายุมั่นหมื่นปี เว้ามาฮอดบ่อนนี้เฮียมขอกล่าวลาลง ขอขอบใจพงศ์สาย โง้ ลุง อาว ป้า ที่ได้อดสาเยี้ยนฟังเฮา น้อต้านกล่าว หวังว่าคราวหน้าพุ้นคงสิได้พบกัน พี่น้องเอย ลา..ลงท้อนี้..แหล่ว ๆ

แคน


แคน เครื่องดนตรีแห่งลุ่มน้ำโขงซึ่งมีความละเอียดซับซ้อน มีเสียงไพเราะลึกซึ้งกินใจอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถบรรเลงได้ทั้งเสียงเดี่ยวและเสียงควบ บรรเลงได้ทั้งแบบหวานซึ้งและสนุกสนานรื่นเริง

แคน ทำจากไม้ตระกูลไผ่ ที่เรียกว่าไม้เฮี้ย และเนื่องจากเป็นไม้ที่นิยมนำมาทำแคน จึงมักเรียกว่า ไม้กู่แคน

เสียงแคน เกิดจากการสั่นสะเทือนของหลาบโลหะ ที่เรียกว่าลิ้นแคน ซึ่งมีรูปทรงเลียนแบบมาจากลิ้นนก เพื่อเลียนเสียงของนกการเวก ลิ้นแคนที่สั่น เกิดเป็นเสียงดังเข้าไปในลำไม้กู่แคน ทำให้มีเสียงกังวานที่ไพเราะขึ้น (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับแคนเพิ่มเติม)

วิถีชีวิตชาวอีสาน เมื่อเสร็จจากภาระกิจประจำวันแต่ละวัน ชาวบ้านมักจะนำแคนมาเป่าเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ตัวเองก็ผ่อนคลาย คนอื่นบ้านใกล้เรือนเคียง ได้ฟังก็ผ่อนคลายอารมณ์เช่นกัน

สำหรับชายหนุ่ม พอมืดค่ำ มักจะรวมกลุ่มกันเดินดีดพิณเป่าแคนไปแอ่วสาว(จีบสาว) หรือบางครั้ง ก็รวมตัวกันที่ลานบ้านใครคนหนึ่ง ดีดพิณเป่าแคน เด็กๆ คนเฒ่าคนแก่ รวมถึงสาวๆ ก็มารวมกัน ร่วมเล่นสนุกท่ามกลางเดือนหงาย เมื่อผ่อนคลายแล้ว ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

ฟ้อนแคน
 ได้นำเสนอบรรยากาศการเกี้ยวพาราสี เล่นสนุกสนานกันระหว่างหนุ่มสาวชาวบ้าน โดยใช้แคนเป็นอุปกรณ์หลัก หรือเป็นสื่อ

ดนตรี บรรเลงจังหวะเซิ้ง โดยใช้ลายเต้ยโขง, เต้ยธรรมดาออกลายลำเพลิน

อุปกรณ์ แคน

ฟ้อนแคน

การแต่งกาย
- ชาย  สวมเสื้อแพรแขนสั้น นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าสไบขิดมัดเอว สวมสร้อยคอ
- หญิง  สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน

เนื้อร้องฟ้อนแคน (วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์)

 (เกริ่น)
ได้ยินเสียงแคนอ้าย คืนเดือนหงายคึดฮอดพี่ เสียงลมพัดวี่วี่ ผัดแฮงคึดฮอดอ้าย โอยหลายมื้อ แต่คิดนำ จักแม่นกรรมหยังน้อ จั่งหมองใจได้ไห้จ่ม พี่เอ๋ย...พี่ บ่สมความมาดแม้นแลงเซ้าดูเปล่าดาย ซ่างบ่กลายมาบ้าน ให้นงคราญได้เหลียวเบิ่ง มาให้ใจอีน้อง ได้มองอ้ายให้ชื่นใจ…นั่นละหนา

(ร้อง)
 เสียงแคนดัง ฟังตุแลแล่นแตร้     ตุแลแล่นแตร้ ไผนอมาเป่า ๆ
เสียงเหมือนดังเรียกสาว            ถามว่าบ้านอยู่ไส
น้องได้ฟัง                              เสียงแคนดังหวนไห้
เสียงแคนบาดดวงใจ                เหมือนอ้ายเคยเป่าให้ฟัง ๆ

*       โอ้…ฮักเอ๋ย                   ก่อนอ้ายเคยเว้าสั่ง
ฮักอ้ายบ่จืดบ่จาง                      เหมือนแคนอ้ายสั่งดังแล้แล่นแตร ๆ 
        บ่ลืมเลือน                       ยามเมื่อเดือนส่องหล้า
สองเฮาเคยเว้าว่า                      บ่ลืมสัญญา ฮักใต้ร่มไทร
ยามน้องจากมา                         อ้ายจ๋า อย่าห่วงอาลัย
เสียงแคนคราใด                        ยังคิดฮอดอ้ายอยู่ทุกเวลา ๆ

(ซ้ำ *)


ดูวีดีโอฟ้อนแคน แสดงโดยชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสานจุฬาฯ
 

การฟ้อนรำ..จังหวัดกาฬสินธุ์

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง

ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง
ในอดีตนั้น การประกอบอาหารและการเสาะหาแหล่งอาหารของชาวไทอีสานในความเป็นอยู่แบบพอเพียงไม่ได้ซื้อหาจากตลาดหรือร้านค้าดั่งเช่นในปัจจุบัน ชาวอีสานในอดีตจึงออกแสวงหาอาหารในแหล่งธรรมชาติใกล้ชุมชน เช่น ในท้องนา ป่าชุมชน ป่าทาม รวมไปถึงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม ด้วยกระแสบริโภคนิยม บางท้องที่หรือบางชุมชนก็ยังหาอยู่หากินอย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันอยู่

“ไข่มดแดง” รวมถึงตัวอ่อนของมดแดง ก็ถือได้ว่าเป็นอาหารอีสานที่หารับประทานได้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารตามฤดูกาลแม้ในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมในการบริโภคกันอยู่ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถหาได้ง่ายๆในท้องถิ่น ซึ่งกรรมวิธีการหาไข่มดแดงจะต้องมีอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ยาวผูกปลายด้วยตะกร้า และมีคุใส่น้ำเตรียมไว้ใส่ไข่มดแดงที่แหย่ได้ แล้วใช้เศษผ้ากวนเอาตัวมดแดงแยกออกจากไข่ เพื่อนำไปประกอบอาหารต่อไป

ภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ได้ศึกษารูปแบบการแหย่ไข่มดแดงของชาวบ้าน โดย อ.ประชัน คะเนวัน และ อ. ดรรชนี อุบลเลิศ ได้ศึกษาขั้นตอนอย่างละเอียด ก่อนจะนำมาประดิษฐ์เป็นชุดการแสดง “เซิ้งแหย่ไข่มดแดง” ซึ่งมีความสนุกสนานเร้าใจในแบบศิลปการแสดงแบบชาวอีสาน ซึ่งได้แสดงออกถึงการออกไปหาไข่มดแดง ซึ่งได้มาอย่างยากลำบาก ทั้งต้องถูกมดแดงกัดหรือไต่ตามเสื้อผ้า การกวนแยกตัวมดแดงออกจากไข่ ทำให้ชุดการแสดงนี้บอกเล่าวิธีการได้อย่างละเอียด

การแสดงฟ้อนแหย่ไข่มดแดง
- เดินทางออกจากบ้าน ฝ่ายหญิงจะถือคุใส่น้ำและเศษผ้าเหน็บไว้ที่เอว ชายถือไม้ยาวผูกตะกร้าที่ปลายไม้สำหรับแหย่รังมดแดง
- มองหารังมดแดง
- แหย่มดแดงได้เทลงในครุใส่น้ำ
- นำผ้ากวนมดแดง เพื่อแยกตัวมดออกจากไข่มดแดง
- เทน้ำออกจากครุ
- เก็บอุปกรณ์เดินทางกลับบ้าน

ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดเอว และใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก 3 ส่วนคอกลม ห่มสไบ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สั้นแค่เข่า

ดนตรี ลายสุดสะแนน ลายเซิ้งบั้งไฟ

อุปกรณ์สำหรับการแสดง คุใส่น้ำ ตะกร้าผูกปลายไม้ยาว ผ้าสำหรับกวนมดแดง
การฟ้อนรำพื้นบ้านอีสาน

 หน้าก่อนหน้าถัดไป
เซิ้งกระติบ

กระติบข้าว


กระติบข้าว หรือภาษาอีสานบางแห่งเรียกว่าก่องข้าว เป็นภาชนะใช้สำหรับใส่ข้าวเหนียว ที่ทรงคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญา เก็บความร้อนได้ดี ในขณะที่ยอมให้ไอน้ำระเหยออกไปได้ ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในกระติบหรือก่องข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ (ต่างจากกระติกน้ำแข็งที่เก็บความร้อนได้แต่ไม่ยอมให้ไอน้ำระเหยออก ข้าวเหนียวจึงเปียกแฉะ)

ภูมิปัญญานี้มีเคล็ดลับอยู่ที่การสานกระติบเป็นสองชั้น ชั้นในสุดจะสานด้วยตอกให้มีตาห่างเล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกจากข้าวผ่านช่องว่างภายในกระติบข้าวชั้นในได้ ในขณะที่ชั้นนอกสุดจะสานด้วยตอกที่มีความชิดแน่นหนากว่าเพื่อเก็บกักความร้อนไว้ ไอน้ำที่มีความร้อนอยู่ภายในช่องว่างนี้ จะช่วยทำให้ข้าวเหนียวที่อยู่ภายในกระติบข้าว ยังคงความร้อนได้อีกนาน โดยเมล็ดข้าวจะไม่มีไอน้ำเกาะ จึงไม่แฉะเหมือนกับการบรรจุในภาชนะพลาสติกยุคใหม่   ฝาปิดและตัวกระติบ จะมีลักษณะที่เหมือนกัน เพียงแต่มีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อยให้สามารถสวมใส่กันได้พอดี ในส่วนตัวกระติบจะมีฐานรอง ขดเป็นวงกลม มีขนาดเล็กกว่าตัวกระติบเล็กน้อย ยึดด้วยหวายหรือไนล่อนให้ติดกับตัวกระติบ

เซิ้งกระติบข้าว

เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว

เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมนั้น เซิ้งบั้งไฟในขบวนแห่ หรือเซิ้งในขบวนแห่ต่างๆ ไม่มีท่าฟ้อนรำที่อ่อนช้อย เป็นเพียงยกมือร่ายรำ(ยกมือสวกไปสวกมา)ให้เข้ากับจังหวะกลองและรำมะนาเท่านั้น

ในราว พ.ศ. 2507 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงมีพระประสงค์การแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงเซิ้งอีสานคือ จังหวะลำเซิ้งมาใช้ โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ยังไม่ได้ห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า "น่าเอ็นดูดีนี่" ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า "เซิ้งอีสาน" ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "เซิ้งกระติบข้าว"
อ้างอิงจาก: บ้านรักษ์ไทยดอทคอม
ดนตรี  ใช้ลายเต้ยโขง

อุปกรณ์ กระติบข้าว

เซิ้งกระติบข้าว

การแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ซ้ายเฉีียงไปทางขวา



สารบัญ โขน
















เผยแพร่เมื่อ 24 พ.ค. 2013
ตอนที่ 1 กำเนิดรามเกียรติ์
ตอนที่ 2 ทศกัณฐ์กำแหง
ตอนที่ 3 กำเนิดองคต

นิทานพื้อบ้าน แก้วหน้าม้า

       บทละครนอก เรื่อง แก้วหน้าม้า  เป็นวรรณคดีพระราชนิพนธ์ ของ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์  พระราชโอรสลำดับที่ ๓๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาศิลา  พระนิพนธ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระนิพนธ์เรื่องแก้วหน้าม้าแล้ว  ยังทรงมีผลงานพระนิพนธ์อื่นๆ เช่น บทละครนอกเรื่องยอพระกลิ่น  โคลงนิราศฉะเชิงเทรา  บทละครนอกโม่งป่า  และเพลงยาวสังวาสอีกหลายสำนวน
เรื่องย่อ
      นางแก้วหน้าม้าเป็นธิดาสามัญชนชาวเมืองมิถิลา เหตุที่นางมีชื่อเช่นนี้เพราะก่อนตั้งครรภ์ผู้เป็นมารดาได้ฝันว่าเทวดานำแก้วมาให้ พอให้กำเนิดบุตรสาวเลยตั้งชื่อว่า “แก้ว” แต่เนื่องจากใบหน้าเหมือนม้า ชาวบ้านเรียกว่า นางแก้วหน้าม้า
      นางแก้วนั้นวัยไล่เลี่ยกับพระปิ่นทอง พระโอรสเมืองมิถิลา และมีญาณวิเศษสามารถล่วงรู้ลมฝน จึงเป็นที่รักใคร่ของชาวบ้าน เมื่อเก็บว่าวจุฬาได้ นางแก้วดีใจจะเก็บไว้เล่นเอง เมื่อพระปิ่นตามมาขอว่าวคืน นางแก้วขอสัญญากับพระโอรสว่าต้องมารับนางเข้าวังไปเป็นมเหสี พระปิ่นรับปากเพียงเพราะหวังอยากได้ว่าวคืน รออยู่หลายวันไม่เห็นพระปิ่นทองมารับ นางแก้วจึงเล่าเรื่องให้พ่อกับแม่ฟัง และขอให้ไปทวงสัญญา เมื่อพ่อแม่ไปทวงสัญญากับพระปิ่น ท้าวภูวดลกริ้วตรัสให้นำตัวไปประหาร แต่พระนางนันทาได้ทัดทานพร้อมเรียกพระโอรสมาสอบถาม พระปิ่นทองยอมรับว่าสัญญาจะให้มาอยู่กับสุนัข เมื่อพระปิ่นทองสัญญาแล้ว พระนางนันทาสั่งให้ไปรับตัวนางแก้วมาอยู่ในวัง ครั้งไม่มีวอทองมารับสมกับตำแหน่งมเหสี นางแก้วก็ไม่ยอมไป จนในที่สุดนางแก้วได้นั่งในวอทอง พร้อมกับแต่งตัวสวยพริ้ง พอมาถึงวังหลวง ท้าวภูวดลกับพระปิ่นทองเห็นนางแก้วรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด กริยามารยาทกระโดกกระเดกก็ทนไม่ได้ คิดหาทางกำจัดนางแก้ว แต่พระนางนันทานึกเอ็นดู
      นางแก้วเข้าวังมาไม่นาน ท้าวภูวดลกับพระปิ่นทองหาทางกำจัดนางแก้ว โดยให้นางแก้วไปยกเขาพระสุเมรุมาไว้ในเมืองภายใน 7 วัน หากทำไม่สำเร็จจะต้องได้รับโทษประหาร แต่ถ้าทำได้จะจัดพิธีอภิเษกสมรสกับพระปิ่นทอง นางแก้วออกไปตามป่า เสี่ยงสัตย์อธิษฐานกับเหล่าทวยเทพว่าหากตนเป็นเนื้อคู่ของพระปิ่นทอง ขอให้พบเขาพระสุเมรุ เดินทางต่อไปอีกสามวัน พบพระฤาษีรีบเข้าไปกราบและเล่าเรื่องราวทั้งหมด พระฤาษีมีใจเมตตาจึงช่วยถอดหน้าม้าออกให้ นางแก้วกลายเป็นหญิงที่งดงามโสภา แล้วเสกหนังสือเป็นเรือเหาะให้ลำหนึ่งพร้อมมอบอีโต้ไว้เป็นอาวุธ นางแก้วจึงสามารถไปยกเขาพระสุเมรุมาถวายท้าวภูวดลได้สำเร็จ
      ท้าวภูวดลพยายามหาหนทางที่จะเลี่ยงคำสัญญาเลยมอบให้พระปิ่นทองเดินทางไปอภิเษกกับเจ้าหญิงทัศมาลี ราชธิดาของท้าวพรหมทัต ก่อนเดินทางไป พระปิ่นทองกล่าวว่า ถ้ากลับมานางยังไม่มีลูกจะถูกประหาร นางแก้วนั่งเรือเหาะตามพระปิ่นทองไปแล้วถอดหน้าม้าออก ไปขออาศัยอยู่กับสองตายายในป่า เมื่อพระปิ่นทองผ่านมา นางแก้วก็ไปอาบน้ำที่ท่า พระปิ่นทองเห็นเข้าเกิดหลงรัก และไปเกี้ยวพาราณสี จนได้นางแก้วเป็นเมีย ต่อมานางแก้วตั้งครรภ์ พระปิ่นทองต้องการกลับกรุงมิถิลาและได้มอบแหวนให้นางแก้วเพื่อยืนยันว่าเด็กในท้องนางแก้วเป็นลูกของพระปิ่นทองจริง
      ขณะเดินทางกลับกรุงมิถิลา ระหว่างอยู่ในทะเลย เรือสำเภาของพระปิ่นทองถูกมรสุมพัดเข้าไปในถิ่นยักษ์ เมื่อนางแก้วคลอดบุตรชายชื่อว่า “ปิ่นแก้ว” ก็คิดจะพาลูกกลับไปหาพระปิ่นทอง โดยได้แวะไปลาพระฤาษี พระฤาษีบอกนางแก้วว่า พระปิ่นทองอยู่ในอันตราย นางแก้วฝากลูกไว้กับพระฤาษีแล้วแปลงร่างเป็นผู้ชายขึ้นเรือเหาะไปรบกับท้าวพาลราช เจ้าเมืองยักษ์ จนได้รับชัยชนะ นางแก้วในร่างชายหนุ่ม จึงเชิญพระปิ่นทองให้ครองเมืองยักษ์ และตนขอเพียงนางสร้อยสุวรรณ ธิดายักษ์ที่อายุเพียง 15 พรรษา และนางจันทา ธิดายักษ์องค์เล็กวัย 14 พรรษาไปเป็นชายา นางแก้วพาสองธิดายักษ์ไปหาพระฤาษีแล้วเล่าเรื่องราวให้ฟังพร้อมถอดรูปให้ดู สองธิดายักษ์รับปากว่าจะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ นางแก้วจึงพาสองธิดายักษ์มามอบให้พระปิ่นทอง ต่อมาพระปิ่นทองเดินทางกลับเมืองมิถิลาพร้อมกับสองธิดายักษ์
      นางแก้วได้พาลูกกลับมาเฝ้า พระปิ่นทอง ท้าวภูวดล พระนางนันทา นางสร้อยสุวรรณ และนางจันทา พร้อมกับกราบทูลว่าพระปิ่นแก้วเป็นพระโอรสของพระปิ่นทองกับนางแก้ว พระปิ่นอนงกับท้าวภูวดลไม่เชื่อ นางแก้วเลยมอบแหวนที่พระปิ่นทองเคยมอบให้ในร่างนางมณีรัตนา นางสร้อยสุวรรณและนางจันทาช่วยกันเลี้ยงดูพระปิ่นแก้ว แถมยกมือไหว้นางแก้ว พระปิ่นทองสงสัยว่าไปมีลูกกับนางแก้วได้ตั้งแต่เมื่อไร่
      เจ้าหญิงทัศมาลีคิดถึงพระปิ่นทองก็เดินทางมาหาพระปิ่นทอง เมื่อเดินทางมาพบพระปิ่นทองแล้วเกิดการหึงหวงกับนางสร้อยสุวรรณและนางจันทาสองธิดายักษ์ จนมีเรื่องทะเลาะวิวาท โดยนางแก้วเข้าช่วยเหลือ นางทัศมาลีเห็นว่าสู้ไม่ได้ จึงหนีกลับเมือง ต่อมาเจ้าหญิงทัศมาลีได้ให้กำเนิดพระโอรส ตั้งชื่อว่า “เจ้าชายปิ่นศิลป์ไชย”
      ท้าวกายมาต ผู้ครองนครไกรจักร เป็นญาติของท้าวพาลราชซึ่งถูกแก้วสังหาร และนางสร้อยสุวรรณ กับ นางจันทา กลายเป็นชายาของพระปิ่นทอง ก็เกิดแค้นใจ ยกทัพมาที่เมืองมิถิลา พระปิ่นทองไม่ชำนาญการรบ นางสร้อยสุวรรณและนางจันทาแนะว่าให้ไปขอความช่วยเหลือจากนางแก้วหน้าม้า พร้อมบอกใบ้ให้รู้ความจริง
      พระปิ่นทองรีบไปง้อขอคืนดีกับนางแก้ว นางแก้วยอมช่วยเพราะเห็นแก่พระนางนันทา โดยแปลงร่างเป็นชายหนุ่มถืออีโต้ไปเฝ้าพระปิ่นทองโดยบอกว่าพี่แก้วให้มาช่วย นางแก้วไม่สามารถทำอะไรท้าวประกายมาตได้ เพราะท้าวประกายมาตมีฤทธิ์รักษาแผลได้ นางแก้วจึงขี่เรือเหาะข้ามศีรษะท้าวประกายมาต ทำให้มนต์เสื่อม จึงสามารถจัดการได้ พอชนะศึกแก้วในร่างของชายหนุ่มขอลากลับทันที พระปิ่นทองจึงมั่นใจว่าต้องเป็นนางแก้วแน่นอน จึงตามไปหาที่ห้องกล่าวง้องอน นางแก้วหน้าม้าก็ทำเป็นเล่นตัว พระปิ่นทองแกล้งทำทีเชือดคอตาย นางแก้วจึงยอมใจอ่อนถอดหน้าม้าออก เมื่อความทราบถึงท้าวภูวดลและนางนันทา ก็ดีพระทัย จึงจัดพิธีอภิเษกสมรสให้นางแก้วเป็นมเหสีของปิ่นทองอย่างเอิกเกริก พร้อมทั้งกับนางแก้วได้ชื่อใหม่ว่า “นางมณีรัตนา” นางแก้วจึงให้คนไปรับพ่อกับแม่มาลี้ยงดูอย่างมีความสุขในวัง ต่อมาไม่นานนางแก้วก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง แล้วได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขละครชาตรี2.mpg แก้วหน้าม้า

กุมภกรรณ พญายักษ์ซึ่งเป็นอนุชาของทศกัณฐ์ ดำรงตำแหน่งพระอุปราช กุมภกรรณเป็นพญายักษ์ซึ่งครองธรรม รักษาไว้ซึ่งสัจจะและความสุจริตยุติธรรม หลังจากที่พญามัยราพณ์ พระนัดดาต้องสิ้นชีพลงแล้ว ทศกัณฐ์ได้รำพึงถึงการศึกที่จะทำสงครามกับฝ่ายพระราม ทศกัณฐ์นึกถึงกุมภกรรณพระอนุชาจึงเชิญขึ้นมาเฝ้าปรึกษาศึก กุมภกรรณผู้มีความสุจริตยุติธรรม ตรึกตรองถึงชนวนศึกเห็นว่าต้นเหตุมาจากทศกัณฐ์ไปลักพานางสีดามเหสีของพระรามมาไว้ในอุทยานกรุงลงกา จึงทูลให้ทศกัณฐ์ส่งคืนนางไปเสีย ด้วยราคะจริตของทศกัณฐ์ที่หลงใหลในรูปโฉมนางสีดา จึงบริภาษประกาศโทษและขับไล่ กุมภกรรณเห็นว่าเมื่อทัดทานมิเป็นผลจึงจำใจรับอาสาออกทำสงคราม โดยจะนำหอกโมกขศักดิ์อันมีฤทธิ์ร้ายกาจ ซึ่งฝากไว้กับพระพรมาธิบดีบนสรวงสวรรค์
กุมภกรรณขึ้นไปทูลขอหอกโมกขศักดิ์ แต่ด้วยเหตุอาเพศที่ต้องเสียสัจสุจริตหอกนั้นกลับเป็นสนิมทั้งสี่คม พระพรหมตักเตือนแต่ก็บอกถึงวิธีแก้ไขให้ กุมภกรรณนำหอกโมกขศักดิ์กลับไปประกอบพิธีลับหอก ที่เขาทับทิมริมแม่น้ำใหญ่ กุมภกรรณจัดสั่งให้ตั้งโรงพิธีใหญ่พร้อมทั้งเครื่องบูชาอย่างครบถ้วนตามตำรา และได้สั่งไพร่พลกวดขันดูแลมิให้สิ่งปฏิกูลใดๆ ผ่านเข้ามาเป็นอันขาด ทางฝ่ายพระราม พิเภกกราบทูลว่า กุมภกรรณไปประกอบพิธีลับหอกถ้าสำเร็จจะมีฤทธิ์ร้ายกาจนักและทูลว่า โดยอุปนิสัยของกุมภกรรณเป็นพญายักษ์ที่รักความสะอาด สิ่งที่จะทำลายพิธีได้ คือ ให้พญาวานรหนุมานและพญาวานรองคตแปลงกายเป็นหมาเน่าและอีกาที่จิกกินซากหมาเน่า ลอยผ่านเข้าไปใกล้บริเวณพิธี
เมื่อกุมภกรรณได้กลิ่นก็จะประกอบพิธีต่อมิได้ พญาวานรทั้งสองรับอาสาไปทำลายพิธีตามคำแนะนำของพญาภิเภก เมื่อกุมภกรรณเสียพิธีจึงยกทัพออกรบ พระรามให้พระลักษณ์คุมกองทัพออกรบ ด้วยเหตุกุมภกรรณเป็นอุปราชมีศักดิ์เสมอพระลักษณ์ ในการรบครั้งนี้ พระลักษณ์เป็นฝ่ายเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ปักพระอุระจนสลบลง กองทัพของกุมภกรรณจึงกลับเข้ากรุงลงกาอบ่างฮึกเฮิม เมื่อพระลักษณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์สลบลง หนุมานจะฉุดถอนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ
สุครีพจึงใช้ให้ให้นิลนนท์ไปทูลข่าวและอัญเชิญให้พระรามเสด็จมาสนามรบ พระรามเสียพระทัยและถามพิเภกถึงวิธีแก้ไข พิเภกทูลว่าสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที แต่ที่สำคัญที่สุดคือถ้าแสงพระอาทิตย์สาดส่องเมื่อใดจะหมดโอกาสแก้ไขได้ หนุมานรับอาสาเหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าเข้ายุดรถพระอาทิตย์ จนตนเองต้องพินาศเพราะอำนาจของแสงอาทิตย์ พระอาทิตย์เห็นเหตุการณ์ประหลาดครั้งนี้จึงชุบหนุมานขึ้นมาแล้วถามถึงสาเหตุ ในที่สุดพระอาทิตย์ก็ช่วยเห



ระบำพื่นเมืองฟลามิงโก มีความสวยงามและสนุกสนาน ถือเป็นต้นตำรับของเสียงดนตรีที่เร้าใจ นักเต้นเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเสียงเพลงและจังหวะของการกระแทกส้นเท้าอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ระบำนี้เป็นเพลงพื้นเมืองและการละเล่นของประเทศสเปน ซึ่งมีประวัติความเป็นมานับร้อยปีมาแล้ว พัฒนามาจากระบำยิปซี โดยผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของสเปนเองโดยเฉพาะในแถบอันดาลูเซีย เป็นศิลปะที่มีรูปแบบซับซ้อน ทั้งเพลง ดนตรี และการเต้นรำ ปัจจุบัน สามารถชมการแสดงนี้ได้ตามภัตตาคารที่มีการแสดงนี้