วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ฟ้อนลาวดวงเดือน
ฟ้อนดวงเดือน


 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะเป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งบรมพิมาน  โปรดเกล้าฯให้ ศจ.มนตรี  ตราโมท  จัดปี่พาทย์บรรเลงขณะเสวย  และให้นาฏศิลป์แสดงหลังจากเสวยพระกระยาหารแล้ว  ศจ.มนตรี  ตราโมท  จึงได้จัดชุดฟ้อนลาวดวงเดือนขึ้น   โดยนำเพลงลาวดวงเดือน  พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม  ซึ่งเป็นเพลงสำหรับผู้ชายร้อง  มาแบ่งแยกให้เป็นบทผู้หญิง  และชายร้องโต้ตอบกัน  แล้วขอให้หม่อมแผ้ว  สนิทวงศ์ฯ   เป็นผู้ปรับท่ารำให้เข้ากับคำร้อง  หลังจากแสดงครั้งนั้น (พ.ศ. 2506)  ก็ได้ใช้เป็นชุดฟ้อนอีกชุดหนึ่ง



บทร้องลาวดวงเดือน

                                                    โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง

                                        โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย

                                        ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม

                                        จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย (ซ้ำ)

                                        หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย (ซ้ำ)

                                        หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชยเอยเราละเหนอ

                                        โอ้ละหนอนวลตาเอย พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ

                                        โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย

                                        เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า(ละหนอ)เห็นมืดมน

                                        พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

                                        เสียงไก่ขันขานเสียงหวานเจื้อยแจ้ว หวานสุดแล้วหวานแจ้วเจื้อยเอย (ซ้ำ)

                                        ถึงจะหวานเสนาะหวานเพราะกระไรเลย บ่แม้นทรามเชยเราละเหนอ (ซ้ำ)
ฟ้อนม่านมงคล
ฟ้อนม่านมงคล



พ.ศ. 2495  กรมศิลปากรได้ปรับปรุงละครพันทางเรื่องราชาธิราช  ตอนสมิงพระรามอาสา  นำออกแสดงให้ประชาชนชม  ตอนหนึ่งของเนื้อเรื่องกล่าวถึงพิธีอภิเษกสมิงพระรามกับพระราชธิดาพระเจ้าอังวะ  จึงพิจารณาแทรกระบำขึ้นโดยมอบให้นายมนตรี   ตราโมท  เป็นผู้แต่งบทร้องและทำนองเพลงขึ้น  และตั้งชื่อว่า “ม่านมงคล”

            ฟ้อนม่านมงคล เป็นการฟ้อนที่มีลีลาอ่อนช้อยสวยงาม  ซึ่งสันนิษฐานกันไปต่างๆนานา บางคนสงสัยว่าเป็นของพม่า  เพราะเรียกว่า ฟ้อนม่าน  แต่ฟ้อนม่านมงคลนี้น่าจะเป็นของไทย สังเกตได้จากท่ารำที่อ่อนช้อยงดงาม  มีเพียงท่ารำในตอนต้นเท่านั้นที่ดัดแปลงมาจากของพม่า  หากเป็นการฟ้อนรำของพม่า  จะมีลีลาและจังหวะในการฟ้อนรำที่รวดเร็วและเร่งเร้ากว่าของไทย  น่าจะเป็นไปได้ที่ไทยประดิษฐ์ท่ารำขึ้น  โดยอาศัยท่ารำของภาคเหนือ  และมีท่ารำของภาคกลางปนด้วย  โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องราชาธิราช  ซึ่งเป็นตำนานพงศาวดารที่มีมาดังนี้

             เนื้อเรื่องกล่าวถึงพวกมอญ  (พม่า)   แบ่งเป็น 2 พวก  คือ กรุงหงสาวดี  กับกรุงรัตนบุระอังวะ  ซึ่งทั้งสองเมืองจะรบกันอยู่เสมอ  กรุงหงสาวดีมีทหารเอก คือ สมิงพระราม  ซึ่งเก่งในทางรบ  คราวหนึ่งทางฝ่ายกรุงหงสาวดีแพ้  สมิงพระรามถูกจับเป็นเชลยขังไว้  ณ  กรุงอังวะ  เมื่อพระเจ้ากรุงจีนยกทัพมาประชิดอังวะ  ทำให้พระเจ้ากรุงอังวะต้องส่งทหารเอกมาต่อสู้กับกามนี  ทหารเอกของพระเจ้ากรุงจีน  โดยตกลงว่า หากอังวะแพ้จะเอาเป็นเมืองขึ้น   ถ้าอังวะชนะจะยกทัพกลับไป  พระเจ้ากรุงอังวะจึงได้ออกประกาศหาตัวผู้สมัครออกไปต่อสู้กับกามนีทหารเอกเมืองกรุงจีน  ประกาศผ่านที่คุมขังของสมิงพระราม  สมิงพระรามจึงคิดรับอาสาเพื่อต้องการให้ตนเองพ้นจากการคุมขังและเป็นการป้องกันกรุงหงสาวดี  เพราะหงสาวดีอยู่ทางใต้ของกรุงอังวะ  หากพระเจ้ากรุงจีนตีอังวะก็จะต้องยกทัพเลยไปถึงกรุงหงสาวดี  ถึงอย่างไรอังวะก็เป็นเมืองมอญเหมือนกัน

            สมิงพระรามจึงออกต่อสู้กับกามนี  และได้ชัยชนะ  ฆ่ากามนีตาย  ตามสัญญาของพระเจ้ากรุงอังวะจะยกเมืองให้ครึ่งหนึ่ง  และยกพระราชธิดาให้เป็นมเหสี  สมิงพระรามขอสัญญาอีกข้อหนึ่งว่าห้ามไม่ให้เรียกตนว่าคนขี้คุกหรือเชลย  พระเจ้ากรุงอังวะตกลง   จึงจัดการอภิเษกขึ้น  งานนี้จึงมีการฟ้อนม่านมลคลเป็นการสมโภช

          เพลงฟ้อนม่านมงคลนี้  มีผู้นำทำนองเพลงฟ้อนม่านมงคลไปใส่เนื้อร้องเป็ฯแบบเพลงไทยสากล  ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก  จนครูมนตรี  ตราโมท   ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำในฐานะผู้แต่งทำนองเพลง



การแต่งกาย

           เป็นแบบพม่า  นุ่งผ้าซิ่นกรอมเท้า  ใส่เสื้อเอวสั้น  ริมเสื้อโครงในมีลวดอ่อนงอนขึ้นจากเอวเล็กน้อย  เสื้อแขนยาวถึงข้อมือ  มีแพรคล้องคอ  ทิ้งชายลงมาถึงเข่า  เกล้าผมทัดดอกไม้  มีอุบะห้อยมาทางด้านซ้าย



โอกาสที่แสดง

            ใช้แสดงในงานสมโภช  งานต้อนรับ  และโอกาสเบ็ดเตล็ดต่างๆ



                                              บทร้องเพลงม่านมงคล
ปวงข้าเจ้าเหล่าราชนาฏกร     ขอฝ่ายฟ้อนระบำบรรพ์ด้วยหรรษา

สมโภชองค์อุปราชราชธิดา               ในมหาพิธีดิถีชัย      

ด้วยเดชะบารมีบดีศูรย์           อันไพบูลย์พูนพิพัฒน์นิรัติศัย

จึงอุบัติอุปราชชาติชาญชัย                อรไทพระธิดาศรีธานี      

ขอคุณพระพุทธเจ้า               จุ่งมาปกเกล้าเกศี

พระธรรมเลิศล้ำธาตรี                     พระสงฆ์ทรงศรีวิสุทธิญาณ      

ขอโปรดประสาท                 อุปราชธิบดี

พระราชบุตรี                                วรนาฏนงคราญ      

ทรงสบสุขศรี                       ฤดีสำราญ

ระรื่นชื่นบาน                                วรกายสกนธ์

พวกเหล่าพาลา                             ไม่กล้าผจญ

ต่างหวั่นพรั่นตน                            เกรงพระบารมี

ประสงค์สิ่งใด                               เสร็จได้ดังฤดี

สถิตเด่นเป็นศรี                             อังวะนครา  

 
ฟ้อนชมเดือน
ฟ้อนชมเดือน      





  ในการฝึกนาฏศิลป์ไทยนั้น  นอกจากจะฝึกท่ารำตามแบบแผน เช่น ฝึกรำเพลงช้า  เพลงเร็ว  รำแม่บท  และฝึกระบำที่เป็นมาตรฐานต่างๆ  ผู้ที่ไม่มีทักษะมักจะรำไม่ค่อยได้  ฉะนั้นครูผู้สอนจึงได้คิดประดิษฐ์ท่ารำอย่างง่ายๆ  เช่น รำโคม รำพัด  และฟ้อน ฯลฯ  โดยดัดแปลงทำนองเพลงที่เรียกว่า  เพลงต่างภาษา  เช่น พม่า  มอญ  จีน  ลาว  แขก  ใช้ทำนองง่ายๆ ประกอบท่ารำที่ไม่ใช่ท่ามาตรฐาน  เพื่อให้ผู้เรียนที่ไม่สามารถรำแบบมาตรฐานได้  จะได้มีโอกาสรำและออกแสดงได้

                    ฟ้อนชมเดือนนี้  ใช้ทำนองลาวลำปาง  เพลงที่มีสำเนียงลาวมักจะใช้รำกับฟ้อน  เนื้อเพลงกล่าวถึงการชมธรรมชาติ  เช่น แสงเดือน  ความงามของผู้หญิง  และการแต่งกาย  ท่ารำได้พยายามเลียนแบบการฟ้อนทางภาคเหนือที่มีลีลาอ่อนช้อยงดงามน่าชม  จึงเรียกการรำชุดนี้ว่า  ฟ้อนชมเดือน

บทเพลงฟ้อนชมเดือน

                                               โอ้เดือนเอยโอ้เดือนดวงงาม              ส่องวาววามแลอร่ามเวหา

                                      โอ้เดือนนี้หนอไป่ยอจันทรา                        ชื่นวิญญาไหนมาเทียมเท่า

                                      โอ้แสงจันทร์เจ้าคลายเศร้าร่มเย็น (ซ้ำ)

                                              สุดสวสยเอยรื่นรวยนารี                    ยามราตรีมีจันทร์วันเพ็ญ

                                      นวลเดือนยั่วเย้าให้สาวเริงเล่น                    ช่างงามจริงหญิงเอยงามเด่น

                                      หากเห็นฤทัยหวนไห้รัญจวน (ซ้ำ)



                   ทำนองเพลงลาวลำปางจบเพียงเท่านี้  แต่ผู้ประดิษฐ์ท่ารำได้เพิ่มท่ารำออกไปอีก  โดยขอให้ท่าครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร  ศิลปบรรเลง)  แต่งทำนองเพลงต่อท้ายเพิ่มขึ้นอีก  เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน   เหมือนดังเช่นเพลงดนตรีที่มีท้ายเพลงสนุกๆ ที่ท่านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะได้เคยทำมาแล้วในทางดนตรีไทย

                   ผู้แต่งบทร้อง             ดร.คุณหญิงชิ้น   ศิลปบรรเลง

                   ผู้ประดิษฐ์ท่ารำ         อ.ลัดดา   ศิลปบรรเลง

                   การแต่งกาย             แต่งกายแบบฟ้อนของชาวเหนือ  คือนุ่งผ้าซิ่นยาวถึงข้อเท้า  ใส่เสื้อแขนกระบอก  ห่มผ้าสไบ
 ฟ้อนบายศรีเป็นฟ้อนที่สวยงามอย่างหนึ่ง   ซึ่งใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญหรือเชิญขวัญ  ในการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกสำคัญ ทีมาจากต่างเมืองหรือต่างประเทศ
                   ประเพณีบายศรีสู่ขวัญ  เจ้าใจว่าได้มากจากภาคกลาง  แต่ฟ้อนบายศรีนั้น  ชาวพื้นเมืองคิดท่ารำขึ้นเอง  เพราะถ้าเป็นของลาวจะมีการเล่นเซิ้งรับในพิธีบายศรี  เมื่อมีแขกเมืองหรือแขกเกียรติยศมาจึงจัดต้อนรับขึ้น   มีพิธีบายศรีเชิญขวัญโดยนำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีอย่างสวยงาม  ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องหอม  มีอาหารจัดทำพิเศษสำหรับเชิญขวัญ  มีด้ายสายสิญจน์สำหรับผู้ข้อมือ  ผู้กระทำคือผู้เฒ่าหรือผู้ทรงคุณวุฒิ  วัยวุฒิ  ที่เข้าใจพิธีทำการเชิญขวัญและผู้ข้อมือแขกเมือง   หลักจากนั้นก็จะมีการฟ้อนบายศรีและมีเลี้ยงกันตามประเพณี
                   ท่ารำต่างๆ  เดิมเป็นของภาคเหนือ  ต่อมาก็ดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆ  มีท่าของไทยภาคกลางปนอยู่  แต่ยังอ่อนช้อย และสวยงามตามแบบลีลาของฟ้อนภาคเหนือ

การแต่งกาย
                   นุ่งผ้าซิ่น  เสื้อแขนยาวจรดข้อมือ  มีพวงมาลัยหรือแพรถือทิ้งชายยาวจรดเข่า  เกล้าผมมวยสูง  ทัดดอกไม้ห้อยอุบะข้างซ้ายเหมือนอย่างการแสดงในลักษณะฟ้อนชนิดดังกล่าวมาแล้ว

โอกาสที่แสดง
                   ใช้ในพิธีบายศรีเชิญขวัญในการต้อนรับครั้งสำคัญๆ  ปัจจุบันอาจนำมาดัดแปลงใช้ในงานทั่วๆไปได้

                                              เพลงประกอบ
          มาเถิดเย้อ                             มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
หมู่ชาวเมืองมา                                 เบื้องขวานั่งซ่ายล่าย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว
ยอพาขวัญอันเพริศแพร้ว                     ขวัญมาแล้ว มาสู่ถิ่นฐาน
เกศเจ้าหอมลอยลม                            ทัดเอื้องชวนดม เก็บเอาไว้บูชา
ยามเมื่อฝนเจ้าอย่าคลาย                      ยามแดดสายเจ้าอย่าคลา
อยู่ที่ไหนจุ่งมา                                  รัดด้ายไสยา มาคล้องผ้าแพรกระเจา
          อย่าเพลินเผลอ                       มาเยอขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
อยู่แดนดินใด                                   หรือฟากฟ้าไกล ขอให้มาเฮือนเฮา
เผืออย่าคิดอาศัยชู้เก่า                         ขออย่าเว้า  ขวัญเจ้าจะตรม
หมอกน้ำค้างพร่างพราย                      ขออย่าเชยชม ป่าเขาลำเนาไพร
เชิญมาทัดพวงพยอม                          ทาน้ำหอมให้ชื่นใจ
เหล่าข้าน้อยแต่งไว้                            ร้อยพวงมาลัยมาคล้องให้สวยเอย.
  ฟ้อนดาบนี้แสดงได้ทั้งชายและหญิง  ส่วนมากเป็นการรำในท่าต่างๆ ใช้ดาบตั้งแต่2-4-6-8 เล่ม  และอาจจะใช้ได้ถึง 12 เล่ม   นอกจากการฟ้อนดาบแล้ว  ก็อาจมีการรำหอกหรือ ง้าวอีกด้วย  ท่ารำบางท่าก็ใช้เป็นการต่อสู้กัน  ซึ่งฝ่ายต่างก็มีลีลาการฟ้อนอย่างน่าดูและหวาดเสียวเพราะส่วนมากมักใช้ดาบจริงๆ หรือไม่ก็ใช้ดาบที่ทำด้วยหวายแทน  หากพลาดพลั้งก็เจ็บตัวเหมือนกัน  การฟ้อนดาบนี้มีหลายสิบท่า  และมีเชิงดาบต่างๆ เช่น เชิงดาบเชิงแสน (เป็นของพื้นเมืองของภาคเหนือ)    เชิงดาบแสนหวี (มาจากพวกไทยใหญ่ หรือเงี้ยว)   แต่ละเชิงดาบมีการฟ้อนแตกต่างกัน (ปรากฏว่าเชิงดาบแสนหวีเป็นนักดาบที่เก่งกล้าเผ่าหนึ่งในประวัติศาสตร์)  การฟ้อนดาบมักใช้กลองสะบัดชัยตีประกอบจังหวะ ผู้แสดงสวมชุดพื้นบ้านภาคเหนือ (นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง สวมเสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าคาดเอว)
ฟ้อนดาบ



ฟ้อนดาบ
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน





        ดินแดนภาคอีสานของไทยหรือที่เรียกกันว่า “ที่ราบสูง” จัดเป็นอู่อารยธรรมมาตั้งแต่โบราณกาล หลักฐานที่ได้พบในดินแดนภาคอีสานหลายอย่างแสดงว่าเป็นต้นกำเนิดทั้งแบบอย่างศิลปะและการใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าแก่ที่สุดเกท่าที่พบมาทุกแห่งในประเทศไทย จึงนับได้ว่าเป็นดินแดนแห่งพื้นฐานอารยธรรมที่แผ่ขยายและคลี่คลายเปลียนแปลงออกไปตามสภาพสิ่งแวดล้อม และในที่สุดดินแดนภาคอีสานก็มีเอกลักษณ์ที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองอย่างเด่นชัดเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ


ลักษณะทั่วไปทางสังคม
        สภาพแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไปของชาวไทยในภาคอีสาน ขึ้นอยู่กับความเชื่อและระเบียบแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม เนื่องจากมาตรการที่ช่วยควบคุมการประพฤติปฏิบัติของประชาชนยังได้รับการยึดถืออยู่อย่างเคร่งครัด และรู้สึกว่าจะมีความมั่นคงมากกว่าทุกภาคด้วยซ้ำ เช่น การมีจารีต ดังที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” เป็นเชิงบังคับให้ประชาชนเคร่งครัดในกรอบประเพณีที่ถือปฏิบัติเป็นเรื่องๆ คราวๆ งานฮีตจึงเป็นการทำงานร่วมกันทั้งแรงกายและแรงใจเพื่อสังคมส่วนรวม โดยมุ่งไปทางบุญทางกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่

        มาตรการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “ขะลำ” ซึ่งปัจจุบันออกจะไม่ค่อยเคยชินกันนั้น มีผลที่ให้ประชาชนยึดถือเป็นคติเตือนใจให้สำรวมในการกระทำทุกกรณี ซึ่งมีอยู่หลายร้อยพันอย่างและแยกออกเป็นเรื่องๆ ด้วย เพื่อเหมาะแก่การศึกษาเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น การถือศีลในวันพระ การยกย่องสามีของสตรีที่แต่งงานแล้ว วันสำคัญต่าง ๆ ทางศาสนามีการหยุดการละเว้นงานบางอย่าง ขะลำที่ว่าด้วยประเพณีชายหนุ่มหญิงสาว ซึ่งยอมให้พบปะพูดคุยกันได้แต่ห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน ชายหนุ่มนั้นห้ามมิให้ล่วงล้ำย่างกรายไปบนเรือนโดยไม่มีผู้คน หญิงสาวไปไหนมาไหนคนเดียวกลางคืน หรือไปกับชายหนุ่มสองต่อสองแม้กลางวัน ก็เป็นสิ่งต้องห้ามด้วย จึงจดจำกันไว้สอนลูกหลานตลอดมา ตัวอย่างขะลำมีดังนี้

        - กินข้าวก่อนผัวเป็นวัวเข้าตู้ นอนก่อนผัว - ขะลำ

        - นั่งขวางบันได ขวางประตู - ขะลำ

        - ข้ามขั้นบันไดขึ้นเฮือน ตีนเช็ดหัวขั้นได - ขะลำ

        - ย่างเสียงดัง กินข้าวเสียงดัง ฟันไม้ตอกไม้กลางคืน - ขะลำ

        - ฝนตกผ้าฮ้อง ไถนา ขี่ควายเล่น ยกมีดยกเสียม ฟันไม้ - ขะลำ

ฯลฯ

        ลักษณะของหมู่บ้านซึ่งมีผู้คนอาศัยจนเป็นแหล่งชุมชน ก็อาศัยที่ราบริมน้ำหรือริมหนองริมบึง ถ้าส่วนใดมีน้ำท่วมอยู่เสมอและน้ำเจิ่งนองอยู่บ้าน ก็จะขยับขยายอยู่บนโคกบนดอย ส่วนที่อยู่ห่างออกไปจากที่ลุ่มน้ำแถบแม่น้ำลำคูคลองหนองบึง ก็จะแสวงหาที่ซึ่งมีต้นไม้ชนิดเนื้ออ่อนด้วยทราบดีว่าภายใต้แผ่นดินส่วนนั้นจะมีน้ำ การอยู่รวมกันใกล้ชิดกันมาก ๆ จนดูรวมกันเป็นกระจุกนี้มีผลให้เกิดความสามัคคี ช่วยเหลือเผื่อแผ่กัน ทำสิ่งใดก็ทำด้วยกัน การออกเรือน หรือ “ออกเฮือน” ของหนุ่มสาวที่ปลงใจแต่งงานกันนั้น ก็มักจะอยู่กับพ่อตาแม่ยายสักพักหนึ่ง แล้วจึงค่อยขยับขยายไปอยู่ที่ทางของตน ซึ่งอาจได้รับแบ่งที่ดินจากผู้ใหญ่ก็ได้ มาในปัจจุบันปัญหาเรื่องที่ดินออกจะทำความลำบากให้มากขึ้น จึงมักเปลี่ยนจากออกเรือนไกลๆ เป็นปลูกเรือนอยู่ใกล้บ้านพ่อแม่ แล้วใช้เวลาว่างจากการทำนาไปรับจ้างยังจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งก็สร้างปัญหาอยู่มีน้อยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ชาวไทยในภาคอีสานก็ยังอุดมไปด้วยมรดกสมบัติทางวัฒนธรรมด้านต่าง ๆอีกมาก โดยเฉพาะทางด้านการแสดงพื้นบ้าน ที่เป็นเหมือนสื่อแสดงให้เห็นความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์

        การละเล่นที่สนุกสนานเพื่อผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการงานของชาวไทยภาคอีสานนั้น มีอยู่หลายอย่างหลายประเภท แต่ที่ออกจะเป็นที่นิยมกันมากกว่าอย่างอื่น คือ “หมอลำ” การแสดงหมอลำแต่ละครั้งมีคนดูกันแน่นถึงรุ่งสว่าง เอมีหมอลำก็ต้องมีหมอแคนด้วยเป็นของคู่กัน ดนตรีพื้นเมืองชิ้นนี้กลายเป็นสิ่งมีค่าควรแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง ยิ่งการรำเซิ้งแบบต่าง ๆ ด้วยแล้ว นับว่าเป็นการแสดงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ำแบบใคร นอกจากนั้นยังมีการฟ้อนอีกด้วย เทศกาลนักขัตฤกษ์ใด ๆ ก็มักจะคลาคล่ำไปด้วยหมอลำ หมอแคน เซิ้ง ฟ้อน และการแสดงอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นสภาพทางสังคมของชาวไทยภาคอีสานว่า มีความสนุกสนานร่าเริงและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาวไทยภาคอื่นในเรื่องของการรักถิ่นกำเนิด

การแสดงหมอลำ ของชาวอีสาน


        ตามปกติของการดำเนินชีวิตแม้ว่าจะต้องตรากตรำทำงานต่าง ๆ แต่ก็จดจำกันได้ดีถึงวันสำคัญของเดือนแทบจะกล่าวได้ว่าถามใครก็ได้คำตอบอย่างถูกต้องทุกคน เพราะชาวอีสานมักจะสอนลูกหลานให้จดจำเอาไว้เป็นทอด ๆ เช่น เมื่อถึงเดือนสิบถามใคร ๆ ก็ต้องตอบได้ว่า วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันโดนตา คือ วันที่เขาจะร่วมกันทำบุญอุทิศให้บรรพบุรุษกันทุกครัวเรือน ตอนเช้าขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงไปถวายอาหารพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ งานบุญข้าวจี่ ทำกันในเดือน ๓ คือ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ ก็จะลุกขึ้นเพื่อปิ้งข้าวจี่ กันตั้งแต่ตี ๔ หรือ ตี ๕ ข้าวจี่คือข้าวเหนียวปั้นแล้วปิ้งไฟจนเหลืองแล้วชุบไข่ โดยเสียบไม้ปิ้งไฟถ่าน ซึ่งสุกแดงไม่มีเปลวไฟ งานเหล่านี้แม้ว่าจะไม่มีการแสดงอะไรประกอบ แต่ก็ไม่วายสนุกสนานกันด้วยเสียงเพลงบ้าง เสียงหัวเราะจากการหยอกเอินกันบ้าง

        การสู่ขวัญซึ่งนิยมกระทำกันอย่างจริงจังก็เป็นเรื่องของความจริงใจที่แสดงออกให้เห็นอยู่บ่อยๆ แม้ว่าพิธีสู่ขวัญนี้จะสืบเนื่องมาจากพิธีของพราหมณ์ก็ตาม แต่ก็ได้รับการเคารพนับถืออย่างยิ่ง ทำให้เกิดการแต่งคำสู่ขวัญหลายแบบหลายประเภท มีทั้งสู่ขวัญเด็ก สู่ขวัญเณร สู่ขวัญบ่าวสาวกินดอง เป็นต้น
การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง





        การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง ส่วนมากจะได้รับการพัฒนาขึ้นจากพื้นเพเดิมจนมีแบบอย่างที่ซับซ้อน และยากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นแบบบทของนาฏดุริยางค์สังคีตประจำชาติ แต่กระนั้นการแสดงแบบดั้งเดิมพื้นบ้านก็ยังมีอยู่ไม่น้อย เป็นการแสดงที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีการมากนัก อาจจะมีการไหว้ครูตามแบบขนบประเพณีทั่วไปบ้าง

        การแสดงพื้นบ้านของภาคกลาง คงจะต้องเปิดฉากกันที่ท้องถิ่นชนบท โดยเฉพาะแถบจังหวัดภาคกลาง มีชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ตลอดจนกาญจนบุรีเป็นต้น เนื่องจากท้องถิ่นเหล่านี้มีที่ราบมาก การทำไร่ทำนาจึงเป็นของคู่กับการดำเนินชีวิตตลอดมา ผลผลิตทางเกษตรกรรมจึงได้จากข้าวมากกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนั้นก็มีผลไม้อีกหลายอย่างที่ออกจะขึ้นชื่อกว่าทุกภาค แต่ก็ยังมีสิ่งที่ด้วยหรือไม่มีอย่างที่ภาคอื่นๆ มีอีกหลายอย่างเหมือนกัน


ลักษณะทั่วไปของสังคม

        ลักษณะของภูมิประเทศในภาคกลาง ได้กล่าวแล้วว่าส่วนมากจะเป็นทีราบ ซึ่งเหมาะกับการเกษตรกรรมอีกประการหนึ่งคือมีแม่น้ำดุจเส้นโลหิตสำคัญไหลผ่านหลายสาย ด้วยเป็นแหล่งซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวอันเป็นที่แม่น้ำหลายสายไหลลงสู่ทะเล นอกจากนั้น ก็ยังถือว่าภาคกลางมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจการปกครองมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หัวเมืองอื่นๆ ที่อยู่นอกออกไปก็มีข้าราชบริพารออกไปกำกับดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ มาในปัจจุบันก็ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปประจำการควบคุม ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ย้อนขึ้นไปในสมัยโบราณตั้งแต่ระยะต้นของสมัยอยุธยาก็ปรากฏว่ากรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย การปกครอง การศาสนา และอื่น ๆอีกมากมาย สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี แม้ว่าจะยืดเยื้อหลายครั้งหลายครา และกระทบไปทั่วผืนแผ่นดินไทย แต่ก็กลางก็รับศึกหนักกว่าทุกภาคเพราะว่าข้าศึกส่วนมากจะมุ่งเข้าตีเมืองหลวง คือกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ชาวไทยภาคกลางจึงออกจะกรำศึกสงครามจนกลายเป็นความรู้สึกหรือจิตใต้สำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเตรียมพร้อมในการอพยพหนีเข้าป่าเข้ารก สมัยโบราณนั้นถ้าเด็กๆ ร้องไห้กันงอแงผู้ใหญ่จะขู่ว่า “ร้องไปเถอะ เดี๋ยวพม่ามาละก็โดนจับตัวแน่...” เด็กสมัยโบราณก็เงียบทันที เพราะเป็นไม้เบื่อไม่เมากันมานาน หัวเมืองที่ออกจะมีชื่อเสียงในการรบทัพจับศึกแบบชาวบ้านๆ ก็ได้แก่ กลุ่มชาวบ้านบางระจัน เป็นต้น ตั้งค่ายสู้รบจนตายกันทั้งค่ายก็เพราะจะรักษาอธิปไตยของชาติ

        ภาคกลางมักเป็นที่ปรารถนาของคนในชนบท ที่จะได้เข้ามาเยี่ยมชมหรือเข้ามาสัมผัสไม่ว่าจะด้านใด เช่น พระสงฆ์ที่สนใจเล่าเรียนพระธรรมวินัยใคร่สอบเอาเปรียญ ก็มักเข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ จนมีคำพูดกันว่า “คนในเมืองหลวงใกล้ปืนเที่ยง” คือจะมีการยิงปืนกันในตอนเที่ยงตรง หากไกลออกไปจนถึงชนบทก็ไม่มีโอกาสได้ยินเสียงปืนจนพูดกันว่า “ข้ามันอยู่ไกลปืนเที่ยง” การจัดชั้นของผู้คนก็มีมากกว่าในชนบท เพราะว่าใกล้ชิดกับขุนนางข้าราชการหรือผู้มีบรรดาศักดิ์ตลอดจนราชสำนัก จนมีคำพูดว่า “ชาววัง” ซึ่งก็ได้แก่ผู้คนหรือสตรีที่ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เป็นข้าหลวง เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายใน ซึ่งจะได้รับการฝึกทั้งการเขียนการอ่าน กิริยามารยาท การฝีมือต่าง ๆ เป็นอย่างดี สามารถยกระดับตัวเองให้สูงขึ้นได้ โดยเป็นที่ปรารถนาของชนชั้นสูงจะได้ไว้เป็นแม่ศรีเรือน


กิริยา การแต่งกายของสาวชาววัง

        คนในภาคกลางนอกเมืองหลวงออกไปก็ดูจะคล้ายๆ กับชนบทท้องถิ่นอื่นๆ แต่แนวโน้มเรื่องความนิยมชมชื่นอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง สิ่งที่นิยมกันในเมืองหลวงมักแพร่ขยายออกมาสู่ชนบทภาคกลางมากกว่าภาคอื่นๆเพราะอยู่ในระยะที่จะติดต่อคมนาคมถึงกันได้ง่าย การรวมกลุ่มผู้คนเพื่อร่วมทำการอย่างใดอย่างหนึ่งของคนไทยภาคกลางก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการคิดประดิษฐ์การละเล่นที่สนุกสนาน เช่น การเล่นเพลงพื้นเมืองต่าง ๆ ตลอดจนการรำวงที่นิยมแพร่หลายออกไปทั่วประเทศ ก็มีที่มาจากภาคกลางเป็นส่วนมาก เพราะเมื่อรวมกลุ่มกันแล้ว ย่อมจะมีการพูดจาสังสรรค์หยอกล้อกัน ดังนั้น การละเล่นแบบโต้คารมเป็นคำกลอนที่คล้องจองกัน พร้อมกับการขยับแขนขา ขยับมือกรีดกรายร่ายรำก็เกิดขึ้นด้วย

        ออกไปจากเมืองหลวง คือ กรุงเทพฯ ก็จะเป็นชนบทชานเมืองจนถึงเขตจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำลำคลองหลายสาย ทุ่งนาเขียวขจีสมกับเป็นภาคพื้นที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง ความเป็นอยู่ของคนในชนบทเป็นไปอย่างพื้นเพเดิมอยู่เป็นอันมาก การเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ก็มีอยู่ทั่วไปในรูปของต่างคนต่างทำ ผลผลิตที่แต่ละครอบครัวได้รับจึงไม่มากพอที่จะสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าเดิม อาจจะขยายกิจการกว้างขวางขึ้นที่ดินมากขึ้น แต่ผลผลิตที่มากขึ้นก็กลายเป็นการกดราคาตัวเองไม่ให้สูงตามไปด้วย เพราะปริมาณเกินความต้องการอยู่ แต่สิ่งเหล่านี้ก็หาได้ทำลายเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปเสียหมดทุกอย่าง เพราะเหตุการณ์ต่างๆ จะผันแปรไปเองตามกาลเวลา คนไทยภาคกลางจึงมีจิตใจที่มั่นคงในความเปลี่ยนแปลงไปด้วย และทุกคนก็จะพูดว่า “ยังไงๆ ก็ไม่ถึงกับอดตาย”

        ในสมัยก่อนคนไทยในภาคกลางจะมีอยู่เฉพาะในภาคกลางเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีคนภาคอื่นๆเข้ามาแทรกตัวอยู่ร่วมสังคม จนกระทั่งกรุงเทพฯในปัจจุบันนี้ หาคนไทยภาคกลางแท้ๆ ได้ยาก เพราะเท่าที่มีอยู่เดิมก็โยกย้ายกันออกไปอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เสียมากแล้ว เหลือคนภาคกลางแท้ๆ ในกรุงเทพฯจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น เอกลักษณ์ของคนภาคกลางในกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นงานธุรกิจชนิดทุกลมหายเข้าออกก็ว่าได้

        คนไทยภาคกลางในชนบทรอบนอกๆ ออกไปจากกรุงเทพฯ ก็รับกระแสงานธุรกิจจากกรุงเทพฯ ไปบ้างมากน้อยตามแต่ความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง จึงทำให้การแสดงพื้นบ้านไม่ค่อยมีการสืบทอดกันมากนัก โดยสมัยก่อนเป็นรุ่นพ่อกับรุ่นลูก แต่ปัจจุบันกลายเป็นรุ่นปู่กับรุ่นหลาน ซึ่งจะค่อยๆ ห่างไกลกันออกไปตามกาลเวลา ภาคกลางจึงเป็นภาคที่น่าเป็นห่วงในเรื่องนี้อยู่มากกว่าภาคอื่นๆ อีกประการหนึ่งก็คือ แสงสีแห่งอารยธรรมยุคใหม่ของภาคกลาง ยั่วเย้าท้าทายให้คนไทยคลั่งไคล้ได้มากกว่าการแสดงพื้นบ้านอันบริสุทธิ์ซึ่งมีที่มาแต่ดั้งเดิม จึงเป็นที่หวั่นวิตกไปว่า ความดีวามของการแสดงพื้นเมืองของไทยจะสูญหายจากความทรงจำไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมในสังคมนั่นเอง